ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย เป็นปัญหาเชิงระบบที่เกิดจากหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งระบบอุปถัมภ์ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมไทย ระบบธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ และประเด็นสำคัญคือการที่คนทั่วไปยอมรับว่าการคอร์รัปชันเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ จนนำมาซึ่งพฤติกรรมเลียนแบบจากรุ่นสู่รุ่น ถือเป็นกับดักที่กัดกร่อนความมั่นคงของประเทศและกระทบต่อกลไกทุกภาคส่วน
คณะผู้บริหารซีพี ออลล์-เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว นำทีมพนักงาน พร้อมตัวแทน Mister & Miss Good Governance หรือเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาล (MMGG) ร่วมกิจกรรม “วันต่อต้านคอร์รัปชัน” ประจำปี 2566 ในธีม “WHAT THE FACT ? (แค่สงสัยก็เสิร์ช ACT Ai เลย)” เวทีสำคัญในการแสดงพลังต้านโกง ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ผนึกกำลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษา ร่วมแสดงพลังคนไทย ตื่นรู้สู้โกง
นางสาวกรณิศ ธนสุนทรกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ให้ความสำคัญการกำกับดูแลกิจการที่ดี ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล ซึ่งมีสัดส่วนของกรรมการอิสระที่เป็นบุคคลภายนอก ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการ นโยบายความยั่งยืน และนโยบายด้านการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น กำหนดจริยธรรมธุรกิจและข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน รวมทั้งทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับหลักบรรษัทภิบาลของหน่วยงานกำกับดูแลตามกฎหมายและแนว ปฏิบัติสากลอย่างเหมาะสม
“ซีพี ออลล์ มีคาถาบรรษัทภิบาล ซื่อสัตย์ โปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางให้ผู้บริหารและพนักงานในบริษัททุกคนใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมในการดำเนินงานที่ปราศจากการคอร์รัปชันให้เป็นวัฒนธรรมขององค์กร เป็นหนึ่งหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของซีพี ออลล์” นางสาวกรณิศย้ำ
การจะขจัดคอร์รัปชันของประเทศไทยไม่สามารถอาศัยกลไกภาครัฐเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องมีการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชน ในการบริหารจัดการสมการคอร์รัปชันให้เกิดความโปร่งใสมากที่สุด ที่ผ่านมาซีพี ออลล์ ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางมาตรการการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันภายในและภายนอกองค์กรอย่างต่อเนื่อง เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทุกหน่วยงาน ทุกระดับชั้น ตอกย้ำให้พนักงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกได้รับรู้ถึงช่องทางในการรับแจ้งเบาะแสหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน
ตลอดจนสร้างเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาล Mister & Miss Good Governance เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลที่ทันยุค ทันสมัย ช่วยส่งเสริมธรรมาภิบาลขององค์กรอย่างยั่งยืน และถือเป็นโอกาสที่สำคัญที่ผู้บริหาร พนักงาน ผู้นำรุ่นใหม่ด้านธรรมาภิบาลของซีพี ออลล์ ได้มาร่วมแสดงพลังตื่นรู้สู้โกง ในวันต่อต้านคอร์รัปชัน ประจำปี 2566 นี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กำหนดให้วันที่ 6 กันยายนของทุกปีเป็น “วันต่อต้านคอร์รัปชัน” และจัดงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นให้คนในสังคมเล็งเห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเพื่อสร้างความร่วมมือในหลากหลายรูปแบบ ที่จะช่วยขจัดปัญหา คอร์รัปชันให้หมดไป