รมช.ศึกษาธิการลงพื้นที่มอบนโยบายและติดตามผลดำเนินงาน “โรงเรียนร่วมพัฒนา” หรือ“Partnership School” ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนการศึกษาไทย โดยมีซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทยหนึ่งใน 12 องค์กรภาคเอกชน ร่วมขับเคลื่อนโครงการ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการบริหารจัดการ พัฒนา และสนับสนุนการศึกษาไทย โดยระยะแรกได้คัดเลือกโรงเรียนนำร่อง 50 แห่ง ใน 30 จังหวัด ก่อนขยายผลไปสู่โรงเรียนต้นแบบอีก 30,000 แห่งทั่วประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางลงพื้นที่มอบนโยบายและติดตามผลการดำเนินงาน“โรงเรียนร่วมพัฒนา” หรือ “Partnership School” โรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) จ.พระนครศรีอยุธยา และโรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน จ.เชียงราย ซึ่งซีพี ออลล์ให้การสนับสนุน โดยย้ำกับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ ในพื้นที่ว่าโรงเรียนทั้ง 2 แห่งได้ผ่านการคัดเลือกเป็น 1 ใน 50 โรงเรียนร่วมพัฒนาระยะแรกของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ที่จะมีการบริหารจัดการและกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใหม่สร้างอนาคตเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้ด้านวิชาการ และวิชาชีพควบคู่กันไป
“โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เป็นหนึ่งในนโยบายปฏิรูปการศึกษาสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปีของรัฐบาล โดยมีหลักการสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมพัฒนาการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าพลังจากภายนอกจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันการบริหารงานในแนวทางใหม่ ๆ ที่จะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลสัมฤทธิ์ที่ดี สร้างเด็กไทยตอบโจทย์ยุค 4.0 พร้อมพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯกล่าว
ด้านนายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่าซีพี ออลล์ มีนโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นภารกิจหลักเพื่อตอบแทนสังคมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องด้วยการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อสังคม 2 แห่งคือ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และ วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) พร้อมศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ 20 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยใช้ระบบการเรียนการสอนภาคทฤษฎีควบคู่กับการฝึกปฎิบัติงานจริง (Work-based Education) เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีความพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิด “สร้างเยาวชนสู่มืออาชีพ”
“ซีพี ออลล์ มีความมุ่งมั่นและภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ซึ่งจะนำองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขององค์กรไปต่อยอดสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนที่เข้าไปร่วมพัฒนา เพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียนสำหรับอนาคตให้มีทักษะการใช้ชีวิตอย่างรอบด้านและเป็นคนดี-คนเก่งของสังคม” นายธานินทร์ กล่าว
โดยการขับเคลื่อนโครงการระยะแรกซีพี ออลล์ ได้เข้าไปร่วมวางแผนผ่านการจัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษาฯ ครู ผู้ปกครอง เกิดเป็นแผนงานและเป้าหมายที่แตกต่างกันไปตามบริบทของโรงรียน แต่มีรูปแบบการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันคือนำ “Business Model Canvas” ซึ่งเป็นเครื่องมือออกแบบโมเดลธุรกิจ มาปรับใช้กับการบริหารงานการศึกษา พร้อมเน้นย้ำการพัฒนา 5 ด้านได้แก่1.ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน 2.ด้านการพัฒนาครูและบุคลากร 3.ด้านการพัฒนากิจกรรมเสริมทักษะอาชีพ 4.ด้านการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และ5.ด้านอาคารสถานที่ ภายใต้กรอบการเสริมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนอันพึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 ด้วยหลัก 3R 8C ให้สอดคล้องตามเป้าหมายที่แต่ละโรงเรียนกำหนดดังเช่น
โรงเรียนวัดนาคู (จันทศึกษาคาร) จ.พระนครศรีอยุธยา กำหนดเป้าหมายการดำเนินงานจากโรงเรียนขนาดเล็ก สู่โรงเรียนคุณภาพขนาดกลาง สร้างการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ผู้เรียนร่วมกับชุมชนที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักและเชื่อมโยงเข้าสู่การเรียนเชิงวิชาการให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
ในส่วนโรงเรียนอนุบาลดงมหาวัน จ.เชียงราย เน้นย้ำการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนโรงเรียนจากขนาดกลางไปสู่โรงเรียนคุณภาพขนาดใหญ่ผ่าน “โครงการยุวเกษตรกรรม” พร้อมเชื่อมโยงไปสู่การบูรณาการการเรียนรู้แบบข้ามกลุ่มสาระ ด้วยการจัดการเรียนการสอนแบบผู้เรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) เช่นสร้างการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning: PBL) และชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC)
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นมิติใหม่ในการพัฒนาการศึกษา เติมเต็มช่องว่างและสร้างความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ร่วมกันขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษา ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมอย่างยั่งยืน