ปัญหาหลักอย่างหนึ่งของภาคเกษตรกรรมไทยในปัจจุบัน คือจำนวนผู้ที่สนใจเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมลดลง ขณะที่กระบวนการต่างๆ ยังต้องพึ่งพาการลงทุนลงแรงค่อนข้างมาก การสนับสนุนของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การขับเคลื่อนมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ในโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ ข้าวหอมมะลินิล ผักสวนครัว ภายใต้ความคิด Smart Farmer” ของโรงเรียนบ้านโคกมะเมียน (ธรรมสุชาติอุทิศ) จ.สุรินทร์ กำลังกลายเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรและลูกหลานของเกษตรกรในพื้นที่นี้ได้มีทั้งองค์ความรู้และนวัตกรรมในการพัฒนาด้านเกษตรกรรมของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร เซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า การจะสร้าง Smart Farmer ให้เกิดขึ้นได้ ต้องปลูกฝังเกษตรกรให้มีความเข้าใจทุกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่กระบวนการผลิต การบริหารจัดการ ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ตลอดจนเทคโนโลยีใหม่ ๆ โรงเรียนบ้านโคกมะเมียน (ธรรมสุชาติอุทิศ) ถือเป็นโรงเรียนที่มีความมุ่งมั่นอย่างมากในเรื่องดังกล่าว พยายามนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเป็น Smart Farmer เข้าไปสอดแทรกในการเรียนการสอนรายวิชาต่างๆ ทุกรายวิชา บริษัทจึงได้เข้ามาสนับสนุนโครงการศูนย์การเรียนรู้ข้าวหอมมะลินิล ผักสวนครัว ภายใต้ความคิด Smart Farmer ทั้งด้านงบประมาณและองค์ความรู้ เพื่อให้โครงการประสบผลสำเร็จและสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชน
“โรงเรียนแห่งนี้มีแผนการสร้างรายได้กลับสู่โรงเรียนและชุมชนอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการความรู้มาเป็นหลักสูตร และมีการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อให้ทั้งนักเรียนและคนในชุมชนมีโอกาสได้เข้าใจถึงแนวทางการเป็น Smart Farmer โดยสามารถประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชนอย่างข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ เราจึงเข้ามาสนับสนุนและยกให้ที่นี่เป็นหนึ่งในโรงเรียน Best Practice ที่อาจนำไปขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ได้ เพราะหากนักเรียนในวันนี้ มีความเข้าใจภาคเกษตรกรรมในทุกมิติ ทั้งด้านการบริหารจัดการ ด้านธุรกิจ และด้านเทคโนโลยี วันข้างหน้า นักเรียนเหล่านี้จะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ภาคเกษตรกรรมของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต” นายธานินทร์ กล่าว
นายอนันทแสง แผ่นใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกมะเมียน (ธรรมสุชาติอุทิศ) จ.สุรินทร์เล่าว่า ในปีการศึกษาที่ผ่านมาทางโรงเรียนได้จัดทำหลักสูตรวิชาเพิ่มเติมในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 ในรูปแบบการปลูกข้าวในบ่อซีเมนต์ และจัดทำหลักสูตรแบบบูรณาการการปลูกพืชไม้เลื้อยและผักสวนครัวให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้การเกษตร ภายใต้แนวความคิด Smart Farmer ผ่านกระบวนการการเรียนรู้แบบ Active Learning คือการให้นักเรียนได้ลงมือทำจริง เน้นเรื่องการนำเรื่องเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนการผลิต ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการวางแผนการตลาด
“การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เด็กๆ มีการทดลองปลูกข้าวทั้งแบบวิธีดั้งเดิมและปลูกในท่อซีเมนต์ ทำให้เกิดการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการทำการเกษตรแบบเดิมกับแบบใหม่ ก่อให้เกิดกระบวนการคิด วิเคราะห์เกิดขึ้น ถือได้ว่าประสบความเสร็จอย่างมาก จนก่อให้เกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้การปลูกข้าวหอมมะลินิล ผักสวนครัว ภายใต้ความคิด Smart Farmer ขึ้น เพื่อกระจายองค์ความรู้กลับไปสู่ชุมชน เป็นการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องขอขอบคุณซีพี ออลล์ ที่เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกรรม และให้การสนับสนุนในทุกด้าน” นายอนันทแสง กล่าว
ด้าน ด.ญ. แพรไพลิน ดนัยรุ่งรัตน์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านโคกมะเมียน (ธรรมสุชาติอุทิศ) เล่าเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าว ช่วยเพิ่มความรู้ด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ได้ลงมือทำจริง รู้จักแก้ปัญหาและค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะด้านการเกษตรสมัยใหม่ จนทำให้มุมมองในเรื่องอาชีพเกษตรกรเปลี่ยนไป โดยมองว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพที่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้ หากรู้จักนำเรื่องของเทคโนโลยีและการบริหารจัดการมาใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งตนเองก็ได้นำความรู้ที่ได้รับจาก Smart Farmerในเรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ ไปถ่ายทอดให้กับครอบครัว ทำให้ปัจจุบันที่บ้านปลูกผักปลอดสารพิษไว้ทานเอง เนื่องจากมีความปลอดภัยกับร่างกายมากกว่าซื้อผักที่ขายทั่วไป