ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนผ่านประเพณีทางศาสนาด้วยงานบุญใหญ่อย่างการทอดกฐินประจำปี โดยนำปัจจัยไทยทานที่ได้ไปร่วมสมทบทุนสร้างอาคารเรียนพระไตรปิฎกที่นำวัสดุก่อสร้า งซึ่งแปรรูปมาจากวัสดุรีไซเคิลต่างๆ อาทิ กล่องยูเอชที กล่องโฟม พลาสติก มาเป็นส่วนประกอบก่อนใช้เป็นศาสนสถานที่ยังประโยชน์ต่อพระเณรได้ศึกษาหาความรู้เพื่อทำหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป
ล่าสุด ซีพี ออลล์ นำโดยนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ในฐานะประธานพุทธปัญญาชมรม เป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี ประจำปี 2565 ณ วัดจากแดง โดยมีคณะผู้บริหาร พนักงานซีพี ออลล์ เซเว่น อีเลฟเว่น และประชาชนร่วมงาน ซึ่งในปีนี้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญถวายเงินในพิธีทอดกฐินสามัคคี รวมทั้งสิ้น 1,231,000 บาท โดย พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง รับถวาย ณ วัดจากแดง อ.พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารเรียนพระไตรปิฎกจากวัสดุรีไซเคิลตามนโยบายส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมตามหลักพุทธศาสนาและดูแลสิ่งแวดล้อม 7 GO Green
โดยวัดจากแดง ได้ร่วมกับซีพี ออลล์เป็นเครือข่ายพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม โดยมี พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง ร่วมกิจกรรมให้ความรู้ถ่ายทอดแนวคิดในการจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืนให้แก่กลุ่มโรงเรียนภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ซึ่งขยายผลไปแล้วทั่วประเทศกว่า 500 โรงเรียน รวมถึงล่าสุดกับกลุ่มโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครและกลุ่มโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครภูเก็ต ที่ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ไปเป็นที่เรียบร้อย นอกจากนั้นยังได้ร่วมทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างซีพี ออลล์และวัดจากแดงมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบริจาคขวดพลาสติกทำผ้าไตรจีวร และ โครงการอาหารสร้างบุญ (Food to Merit) ที่ร้าน 7-Eleven นำอาหารตัดจ่ายบริจาคให้แก่วัดจากแดง โดยทางวัดจะนำเข้าเครื่อง COW TEC แปรรูปจากขยะอาหารกลายเป็นแก๊สหุงต้ม น้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลอีกด้วย
วัดจากแดง สถานที่ตั้งอยู่ภายในคุ้งบางกระเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โมเดลต้นแบบในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งแต่เดิมทางวัดจากแดงมีปัญหาจากการ “เผาขยะ” ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนรอบบริเวณวัด อีกทั้งมีขยะในชุมชนล้นถังจนตกสู้แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเคยดักจับขยะที่ลอยผ่านหน้าวัดก่อนจะลอยสู่อ่าวไทย 1 ชั่วโมงได้ขยะ 2 ตัน วัดจึงได้เริ่มจัดการแก้ปัญหาขยะที่ต้นเหตุ คือ “การคัดแยกขยะ” โดยอบรมให้ความรู้ชาวบ้านในการคัดแยก “วัสดุรีไซเคิล” ออกจาก “ขยะ” มีการใช้นวัตกรรมแบบชาวบ้านมาใช้ช่วยการคัดแยก คือ “ลวดพระทำ” คือ เอาเศษอาหารออกจากถุงและเอาลวดร้อยก้นถุงไว้ หลังจากนั้นเอาถุงไปล้างทำความสะอาด นำไปขายเองได้หลายบาท หรือนำมาทำบุญ ทางวัดก็จะนำไปเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเป็นน้ำมันเบนซินใช้ประโยชน์ หรือ กิจกรรมการรับบริจาคขวดพลาสติกใส (PET) นำไปรีไซเคิลทอเป็นผ้าไตรจีวร เป็นต้น