ซีพี ออลล์ ประกาศเป้าหมายดำเนินงานความยั่งยืนภายใต้ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) ในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมอยู่เคียงข้างคนไทยในยามวิกฤต ดูแลรอยยิ้มและความปลอดภัยของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยใช้แนวนโยบาย คิดต่าง สร้างโอกาส และแบ่งปัน
นายธานินทร์ บูรณมานิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวถึงกุญแจสำคัญในการนำองค์กรสู่ความยั่งยืนว่า “ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อระบบสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตหรือแม้แต่พฤติกรรมผู้บริโภค ซีพี ออลล์ ได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ต้องปรับการดำเนินงาน คิดต่าง สร้างโอกาส และแบ่งปัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” และชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงการให้บริการความสะดวกแก่ลูกค้า สังคม ชุมชนและประเทศชาติเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการดูแลพนักงานที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร ภายใต้การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) เพื่อความยั่งยืน
สำหรับการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG (Environmental, Social and Governance : ESG) ประกอบด้วย
E หรือ Environmental ซีพี ออลล์ ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งตระหนักถึงความสำคัญของสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้ ซีพี ออลล์ มิอาจนิ่งนอนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจด้วยหัวใจที่เอื้ออาทรต่อสิ่งแวดล้อมจริงจังกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เรียนรู้การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อช่วยกันลดโลกร้อนด้วยสองมือ
ซีพี ออลล์ จึงได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายในนโยบาย 7 GO Green ประกอบด้วย
Green Store : การบริหารจัดการร้านอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ภายใต้กลยุทธ์ “ร้านเพื่อสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพคอยล์เย็น, เครื่องปรับอากาศ, หลอดไฟประหยัดพลังงาน เป็นต้น โดยในปี 2564 นี้ ซีพี ออลล์ ตั้งเป้าในการลดการใช้พลังงานภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เฉลี่ยต่อปี 42.8 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวน 20,792 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีแผนการขยายการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าปีละ 200 สาขา ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
Green Logistic : ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินงานด้านการขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงานผ่านโครงการต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งและออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ กลยุทธ์ “โลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม” โดยปี 2564 นี้ ซีพี ออลล์ ตั้งเป้าในการใช้พลังงานทดแทนในการดำเนินการศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ จำนวน 8.7 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง (หน่วยไฟฟ้า) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 4,260 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการร่วมกับคู่ค้าในการทดลองใช้รถบรรทุกไฟฟ้า (EV truck) ในการขนส่งสินค้าอีกด้วย
Green Packaging : โครงการด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม มุ่งหวังในการลดปริมาณขยะพลาสติก ผ่านแนวคิด “ลด ละ เลิก” โดยพิจารณาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงทุกกระบวนการในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมถึงการหาวัสดุที่มาจากแหล่งทรัพยากรที่สามารถทดแทนได้ และต้องสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือนำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือสามารถย่อยสลายได้ (Compostable) โดยในปี 2564 นี้ ซีพี ออลล์ ได้ตั้งเป้าถึงผลลัพธ์และประโยชน์ที่ได้รับ คือการสนับสนุนการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ จำนวน 512 ตัน, ลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกจำนวน 10,831 ตัน, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งจำนวน 90,091 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจำนวน 1,318 ตัน
และ Green Living : ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินงานตามนโยบายรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้โครงการ “รวมพลังคนไทย เลิกใช้ถุงพลากสติก” เพื่อสร้างวัฒนธรรมและพฤติกรรมในการ ไม่รับถุงพลาสติก ทั้งนี้ ซีพี ออลล์ ได้สานต่อโครงการ “ลดและทดแทน” เพื่อส่งเสริมลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ช้อน ส้อม หลอด และแก้ว รวมทั้งโครงการทดแทนการใช้พลาสติกด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ด้าน S หรือ Social การสร้างคุณค่าทางสังคมและการสนันสนุนในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาทักษะ ส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs), ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร รวมถึงกลุ่มเประบาง ซึ่งปัจจุบัน ซีพี ออลล์ ได้มีการส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรได้มีรายได้รวมกว่า 28,000 ราย, วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย รวมกว่า 32,000 ราย และจำนวนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ รวมกว่า 2,900 ราย
สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต ซีพี ออลล์ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน โดยเชื่อมั่นว่าการมอบโอกาสทางการศึกษาสามารถเปิดประตูสู่โอกาสทางอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยในปี 2564 นี้ ซีพี ออลล์ได้มอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และเครือข่ายรวม จำนวน 6,574 ทุน รวมเป็นเงินกว่า 83 ล้านบาท และเตรียมมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จำนวน 3,146 ทุน รวมเป็นมูลค่ากว่า 840 ล้านบาท รวมปีการศึกษา 2564 ซีพี ออลล์ ได้มอบทุนการศึกษาเรียนปัญญาภิวัฒน์ฯ รวม 9,720 ทุน เป็นเงินกว่า 923 ล้านบาท
นอกจากนี้ ซีพี ออลล์ ยังเป็นหนึ่งในพันธมิตรก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 41 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยซีพี ออลล์ วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวน 638 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆอย่างใกล้ชิด
สุดท้าย ด้าน G หรือ Governance and Economic หมายถึงหลักการบริหารงานภายใต้กรอบธรรมภิบาล ซีพี ออลล์ มีความเชื่อมั่นว่าแนวปฎิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นองค์กรที่บริหารงานด้วยความโปร่งใส สามารถช่วยสร้างพื้นฐานความยั่งยืนขององค์กรให้สามารถเติบโตและเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความสามารถการแข่งขันขององค์กรได้ ซีพี ออลล์ จึงได้ดำเนินงานโดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัทจัดโครงสร้างการบริหารงานด้านการกำกับดูแลพร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการต่อต้านคอร์รัปชั่น นโยบายความยั่งยืนและแนวทางปฎิบัติรวมถึงจริยธรรมธุรกิจ ต่อต้านการทุจริต เคารพและปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล การพัฒนาผู้นำและพนักงานทุกคนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมด้านความยั่งยืน ส่งเสริมให้มีนวัตกรรมและการสร้างคุณค่าด้านสินค้า บริการ และธุรกิจใหม่ ภายใต้จริยธรรมธุรกิจและหลักธรรมภิบาล
“นอกจากนี้เรายังคงสร้างความร่วมมือ และส่งเสริมพัฒนาความยั่งยืนกับคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน เป็นไปตามปณิธาน ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้กับทุกคน” นายธานินทร์ กล่าวทิ้งท้าย