ทีมงานเชื่อว่าน้องๆ หลายคนตอนนี้น่าจะทราบผลกันแล้วว่ามีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์มหาลัยไหนในดวงใจกันแล้วบ้าง และการสอบสัมภาษณ์คือ “ด่านสุดท้าย” ของการคัดเลือกเข้าเป็นนิสิต นักศึกษาในสถาบันนั้นๆ ซึ่งถ้าเตรียมตัวมาก่อนก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว วันนี้ทีมงานมีทริคเคล็ดลับดีๆ พร้อมแนวทางการตอบคำถาม ที่จะเพิ่มความพร้อมแล้วช่วยลดความตื่นเต้นให้น้องๆ ในวันสอบสัมภาษณ์ได้อย่างแน่นอน ทีมงานจึงมี ฝึกตอบสัมภาษณ์เข้ามหาลัยกับ 7 คำถามที่ต้องเจอ! มาฝากกัน
1.แนะนำตัวเอง
เริ่มง่ายๆ ด้วยการแนะนำตัวเอง ถึงแม้จะบอกว่าง่ายแต่น้องๆจะแนะนำตัวแบบขอไปทีหรือไม่ให้ความสำคัญไม่ได้ เพราะตรงนี้ผู้สัมภาษณ์จะดูว่าเราเป็นคนอย่างไรผ่านการพูดครั้งแรก ดังนั้นควรมีการเตรียมตัวเรื่องการแนะนำตัว ลำดับเรื่องราวที่อยากจะพูดให้เป็นลำดับ ไม่กระโดดข้ามไปมา ควรซ้อมไว้ก่อนต้องมีสติ คิดบวก แสดงความสุภาพอ่อนน้อม พูดจาไพเราะ ยิ้มเข้าไว้ สร้างความประทับใจในครั้งแรกค่ะ
2.ทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้/ ที่นี้
คำถามแรกมักเป็นเปิดประเด็น ถ้าตอบได้ดี คำถามต่อไปก็จะสบาย ๆ แต่ถ้าตอบไม่ดี อาจจะเกิดคำถามต่อเนื่องเป็นชุดได้ ดังนั้นถ้าเรามีคำตอบในใจ มีเหตุผล มีน้ำหนัก และแสดงทัศนคติของเราได้ดีก็ไม่มีอะไรต้องเป็นกังวล ซึ่งจะตอบแค่ว่า “ชอบค่ะ/ครับ” คงไม่มีน้ำหนักพอ แนะนำว่าน้องๆ ควรหาเหตุผลเชื่อมโยงคำว่าชอบให้เป็นความมุ่งมั่นที่อยากจะเรียนคณะนี้หรือที่นี้จริงๆ เช่น อยากเข้าคณะนิเทศเพราะรู้ตัวว่าชอบด้านนี้ พยายามหาโอกาสให้ตัวเองได้ทำงานที่ชอบเสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรในงาน รร. หรือ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านนี้ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยนี้ก็มีชื่อเสียงทางด้านนี้ มีสาขา หลักสูตรที่ตรงกับความต้องการ อยากเรียน *** แม้ว่าคณะ หรือ สถาบันที่น้องได้อาจจะไม่ใช่อันดับแรกที่น้องเลือก แต่น้องๆ ก็ไม่ควรพูดว่าเพราะไม่ได้อับดับแรกเลยมาที่นี้ เพราะทุกอันดับทุกคณะที่น้องเลือก เชื่อว่าเป็นสิ่งที่น้องตั้งใจอยากเรียนอยู่แล้ว ดังนั้น ขอให้ น้อง ๆ ภูมิใจที่ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในนักศึกษาของสถาบันนั้น ๆ
3.รู้ไหมคณะ/สาขานี้เรียนอะไร
ผู้สัมภาษณ์ถามเพื่อเป็นการลองเชิงน้องๆว่าหาข้อมูลเกี่ยวกับคณะมามากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นเรื่องที่ควรรู้ก่อนมาคือสาขา คณะ ที่ได้เข้ามาเรียนอะไรบ้างจบมาสามารถประกอบอาชีพด้านใดได้บ้าง สามารถหาได้ง่ายๆคือเว็บไซต์ของสถาบันนั้นๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องหาถึงขั้นว่าเรียนกี่หน่วยกิต กี่ชั่วโมง แต่หาเพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึก เป็นอาวุธติดตัวแล้วเรียบเรียงคำพูดดีตอบสัก 2-3 ประโยคก็พอแล้วที่สำคัญต้องมีความมั่นใจในการตอบคำถามด้วย
4.เคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง /เข้ามาเรียนที่นี่ แล้วจะทำกิจกรรมอะไรไหม
คำถามนี้ไม่ได้ทำให้ใครตกสัมภาษณ์เพียงแค่เป็นการเช็คว่าสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือไม่ รวมถึงการมีจิตอาสาของน้องๆซึ่งถ้าไม่เคยถึงขั้นขึ้นเวที ประกวดแข่งขันต่างๆ ก็สามารถพูดถึงงานที่เข้าไปมีส่วนร่วมก็ได้ เช่น งานกีฬาสีเคยเป็น สตาฟ ขบวนพาเหรด หรือ กิจกรรมเข้าค่ายที่โรงเรียยนจัดก็สามารถพูดได้
นอกจากนี้อาจจะเจอผู้สัมภาษณ์ถามว่าแล้วเรียนมหาลัยจะทำกิจกรรมหรือไม่เพราะกิจกรรมเยอะที่มหาลัยค่อนข้างเยอะไม่ว่าจะเป็นงานรับน้อง งานสาขา งานคณะ กีฬาเฟรชชี่ งานประกวดต่างๆ แต่แตกต่างกับสมัยโรงเรียนตรงที่กิจกรรมมหาลัย มักไม่ค่อยบังคับให้นักศึกษาทำแต่เป็นเรื่องของการให้ความร่วมมือเข้าร่วม หรือจิตอาสาที่นักศึกษาพึงมี ดังนั้นน้องๆก็ควรเตรียมคำตอบให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ เช่น เข้าร่วมอยู่แล้ว ชอบทำกิจกรรม แบ่งเวลาเรียนและกิจกรรมได้ เป็นการสร้างความประทับใจให้กับผู้สัมภาษณ์ได้ด้วย
5.บอก “ข้อดี” และ “ข้อเสีย” ของตัวเอง
ในส่วนของข้อดี ขอให้น้องๆ ตอบอย่างมั่นใจไปเลยว่าน้องมีข้อดีอย่างไร และเสริมเหตุผลต่อนิดนึงเพื่อให้มันดูลอย หรือ ดูเกินจริงไป เช่น “ข้อดีคือเป็นคนมนุษย์สัมพันธ์ดีทำให้เป็นคนที่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นเป็นทีมได้ดี” ส่วนทางด้านของข้อเสีย ถ้าน้องๆพูดว่า “ไม่มี” คงจะดูไม่ค่อยดี แนะนำว่าพูดข้อเสียพร้อมแนวทางแก้ไขข้อเสียของตน เช่น “ข้อเสียของคือเป็นคนขี้ลืม เลยต้องมีลิสต์สิ่งที่ต้องทำและหมั่นตรวจเช็คสิ่งที่ต้องทำอยู่เสมอๆ” ทำให้เราดูเป็นคนที่รู้ข้อดีข้อเสียของตนเองแล้วพร้อมจะปรับปรุงแก้ไขอีกด้วย
6.“แล้วถ้าไม่ติดที่นี่จะทำยังไง”
ไม่ต้องตกใจ หรือ ใจเสียไปเมื่อได้ยินคำถามนี้ เป็นเพียงคำถามที่ดูไหวพริบและความคิดหลังจากได้รับแรงกดดันเท่านั้น ห้ามตอบว่าไม่รู้ ไม่ทราบแต่แนะนำว่าพูดถึงความตั้งใจของน้องๆที่จะเข้าคณะนี้และที่นี้ก่อน “หากไม่ติดที่นี้ ก็เสียใจแต่จะสู้ในรอบต่อไปเพราะครั้งนี้พยายามเต็มที่และได้มีโอกาสเข้ามาในคณะและมหาลัยที่ตรงความชอบ ยังไงก็จะพยายามต่อเพื่อจะได้เข้ามาเรียนที่นี้ค่ะ/ครับ”
7.“มีคำถามอะไรไหม”
เป็นคำถามท้ายๆการสัมภาษณ์ ที่ห้ามตอบว่า “ไม่มีค่ะ/ครับ” เพราะนี้คือคำถามเดียวที่วัดทุกอย่างทั้งความตั้งใจ ความสนใจ ดังนั้น น้องควรๆมีคำถามในใจมาสักคำถามอาจจะเป็นคำถามเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมหรือไม่ก็เป็นคำถามที่น้องสงสัยจริงๆ ซึ่งต้องเกี่ยวกับที่สัมภาษณ์ คณะที่เรียนนะเช่น “อาจารย์มีที่ฝึกงานแนะนำไม๊คะ/ครับ” หรือ “การเข้ามาเรียนคณะนี้ มีอะไรที่ควรเตรียมตัวเป็นพิเศษหรือไม่คะ/ครับ” เป็นต้น เพื่อแสดงถึงความตั้งใจที่อยากเรียนคณะนี้จริงๆ
ทีมงานเชื่อว่า ฝึกตอบสัมภาษณ์เข้ามหาลัยกับ 7 คำถามที่ต้องเจอ! จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ทุกคน และอย่าตื่นเต้นกับการสอบสัมภาษณ์จนลืมสิ่งสำคัญไป นั้นคือการทำ Portfolio ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลของน้องๆ ผลงานต่าง ๆ ใบประกาศนียบัตรต่างๆ เพื่อให้อาจารย์ได้รู้จักในเบื้องต้น และเป็นสิ่งที่สนับสนุนคำพูดของน้องๆ มีน่าเชื่อถือ และ มีน้ำหนักขึ้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่สร้างความน่าสนใจในตัวน้องๆ ได้นั่นเอง
และสำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจอยากเข้าศึกษาต่อที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เลยที่ www.pim.ac.th หรือดูรายละเอียดเรื่องทุนการศึกษา ก็สามารถดูได้เลยที่ www.cpall.co.th/education ได้เลยค่ะ