บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ
การร่วมวิจัยด้านการพัฒนาการผลิตหลอดจากพลาสติกชีวภาพ เชิงพาณิชย์
ระหว่าง
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนพัฒนาหลอดพลาสติกชีวภาพ ผ่านการวิจัยแบบครบวงจรตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการเสนอแนวทางการจัดการหลังการใช้งาน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม และรองรับการเปลี่ยนแปลงพลวัตรของสภาพแวดล้อมในประเทศและบริบทของโลก
หลอดส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกประเภทพอลิโพรพิลีน (Polypropylene, PP) ที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่กระบวนการรีไซเคิลส่วนใหญ่ไม่รองรับผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีขนาดเล็กและบาง ทำให้การรีไซเคิลหลอดมีต้นทุนสูงและไม่คุ้มค่า นอกจากนี้หลอดยังมีช่วงเวลาการใช้งานสั้นและการจัดการหลังการใช้งานยังไม่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล จากการสำรวจพบว่าหลอดที่ถูกนำไปรีไซเคิลมีปริมาณน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ (Salika.co, 2021)1 ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษจึงมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติกที่ส่งเสริมให้ลดและเลิกใช้หลอดพลาสติก หรือเปลี่ยนเป็นหลอดพลาสติกชีวภาพที่มีการนำวัตถุดิบทางการเกษตรหรือทางธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก่อให้เกิดการจัดการขยะได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม “หลอด” แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยังมีความจำเป็นสำหรับกลุ่มเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และในบางประเภทของสินค้า เช่น เครื่องดื่มประเภทน้ำปั่น นมและน้ำผลไม้กล่อง ประกอบกับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจร้านกาแฟและบริการ ตลอดจนพฤติกรรมความเคยชินของผู้บริโภค ส่งผลให้ปริมาณการใช้หลอดยังคงมีต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาของการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตหลอดพลาสติกชีวภาพด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ผนวกกับการเสนอแนวทางการจัดการหลังการใช้งานของหลอดทางเลือก
การลงนามความร่วมมือทางวิชาการการร่วมวิจัยด้านการพัฒนาการผลิตหลอดจากพลาสติกชีวภาพเชิงพาณิชย์ในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้และนวัตกรรมในการผลิตหลอดจากพลาสติกชีวภาพในระดับอุตสาหกรรมและสามารถพัฒนาแนวทางการจัดการหลังการใช้งานของหลอดทางเลือกนำไปสู่การกำหนดนโยบายและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
งานวิจัยจะดำเนินการโดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครอบคลุมการขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การศึกษาอายุการเก็บและการย่อยสลายทางชีวภาพ และการทดสอบการยอมรับของผู้บริโภคซึ่งจะดำเนินการในร้าน 7-11 ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และในพื้นที่ท่องเที่ยวภายใต้ความอนุเคราะห์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลังจากนั้น กรมควบคุมมลพิษจะดำเนินงานร่วมกับนักวิจัยและสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการนำผลงานวิจัยไปใช้ในการวางแนวทางการใช้ประโยชน์บนพื้นฐานความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาสิ่งแวดล้อม กฎหมายและการยอมรับของทุกภาคส่วน