สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรุงเทพมหานคร (กทม.), สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานคนไทย 4.0, สมาคมโรงแรมไทย และบมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และ เซเว่น เดลิเวอรี่ จัดกิจกรรม BKK Zero Waste ต่อยอดแคมเปญไม่เทรวม เพื่อแสดงพลังองค์กรภาคีทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กรที่ต้องการแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการขยะที่ต้นทาง และส่งเสริมให้องค์กร/หน่วยงานและสาธารณชนตระหนักถึงปัญหาขยะและมีส่วนร่วมในการลดการสร้างขยะและคัดแยกขยะที่ต้นทางโดยเรียนรู้ผ่านองค์กรต้นแบบ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในเฟสที่ 2 ของ โครงการไม่เทรวม หรือ BKK ZERO WASTE ซึ่งเป็นการดำเนินการเรื่องการกำจัดขยะในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนสำคัญจากทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่เป็นเหมือนผู้ประสานงานกับกลุ่มภาคีเครือข่าย
“สำหรับเรื่องขยะ ถือเป็นเรื่องใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เราใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลขยะ โดยปีที่แล้วใช้งบประมาณมากถึง 7,000 ล้านบาท เฉพาะการจัดเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร และการจ้างเก็บขน ซึ่งถ้าเราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็จะทำให้เรามีงบประมาณไปดูแลในส่วนอื่นๆ ได้มากขึ้น” นายชัชชาติกล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยนับเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และการร้องเรียนของประชาชนจากการจัดการขยะมูลฝอยอยู่เสมอ ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID19 ทำให้ขยะติดเชื้อและขยะพลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยขยะมูลฝอยก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและสุขอนามัยของประชาชน ตลอดจนมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก/สารพิษลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการปนเปื้อนของน้ำชะขยะสู่แหล่งดิน/แหล่งน้ำ และเกิดก๊าซมีเทนจากบ่อฝังกลบขยะที่เป็นก๊าซเรือนกระจกและเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญของประเทศ จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปี 2564 กรุงเทพมหานครสร้างขยะมูลฝอยสูงถึง 12,214 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั้งประเทศ
“สสส. มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ที่ให้ความสำคัญในการจัดการขยะมูลฝอย โดยการสร้างพื้นที่ต้นแบบการคัดแยกขยะ การต่อยอดการคัดแยกให้สมบูรณ์ครบวงจร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การส่งเสริมให้แหล่งกำเนิดในพื้นที่นำร่องมีระบบลดและคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคประชาสังคม” ดร.สุปรีดา กล่าวเสริม
ทั้งนี้ นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้จัดการทั่วไป ส่วนงานยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อมและคอนเน็กซ์ อีดี บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ซีพี ออลล์ ได้ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้การจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางโดยใช้วิถี “ต้นกล้าไร้ถัง” ขยายผลมาสู่โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมลงนาม MOU สร้างภาคีเครือข่าย “โรงเรียน กทม. ไร้ถัง” ส่งแนวคิด “เปลี่ยนขยะเป็นทรัพย์สิน” สู่เยาวชน-ชุมชน สร้างเครือข่ายจัดการขยะแข็งแกร่งสุดในไทย เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา และเริ่มนำร่องในพื้นที่ 9 เขต จำนวน 24 โรงเรียน และมีแผนขยายผลให้ครบ 437 โรงเรียนสังกัด กทม.ภายในปีการศึกษา 2568 เพื่อปลูกฝังให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้กับเยาวชนและชุมชน แก้ปัญหาการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และเป็นวาระสำคัญของประเทศ
“สิ่งสำคัญที่สุดของการแก้ปัญหาระดับชาติ คือการสร้างความร่วมมือ รวมพลังกันแก้ปัญหาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภาคีของเรามีองค์ความรู้หรือ Knowhow ในการจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จอย่างทับสะแกโมเดล มีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะครบวงจร ขณะที่ กทม.เองก็มีนโยบายและวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าต้องการให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นทาง รวมถึงมีบุคลากร โรงเรียน ชุมชน ภาคีทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กร ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จึงนับเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ตามปณิธานองค์กร ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” นายตรีเทพกล่าว