สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ ซีพี ออลล์ ลงนามความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพรา (ดอกกิ่ง ก้าน และลำต้น) จากโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานและการศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ปกป้องเซลล์ตับ ฆ่าเซลล์มะเร็ง สานต่อปณิธานอันมุ่งมั่นของซีพี ออลล์ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” ที่จะร่วมพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงนโยบายขององค์กรและวัตถุประสงค์ความร่วมมือว่า วว. มุ่งดำเนินงานด้านวิจัย พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม รวมถึงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมนวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการตลอดจนมีการพัฒนาเครือข่ายในการพัฒนางานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) อย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพโดยใช้ วทน.เป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ซึ่งมีความสอดคล้องกับพันธกิจของบมจ.ซีพีออลล์ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ
“วัตถุประสงค์ความร่วมมือของโครงการวิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดฯ ในครั้งนี้ มุ่งวิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพราได้แก่ ดอกกิ่ง ก้าน และลำต้นจากโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานซีพีแรมซึ่งศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. จะทำการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันปกป้องเซลล์ตับฆ่าเซลล์มะเร็ง ผ่านการดำเนินการร่วมกับบมจ.ซีพีออลล์โดย วว. จะนำศักยภาพความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและให้บริการวิเคราะห์ทดสอบด้านผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสมุนไพรที่ได้มาตรฐานยอมรับในระดับสากลและสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้ามากว่า 56 ปี เข้ามาร่วมต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาด้านต่างๆ ภายใต้โครงการให้ประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
“กะเพรา” ถือได้ว่าเป็นพืช และสมุนไพรไทยที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ คนไทยนิยมนำมาประกอบอาหารเป็นเมนูจานเด็ดอย่างเช่น ผัดกะเพรา เป็นเมนูยอดนิยมของคนไทยมายาวนาน
ข้าวกะเพราถือเป็นอีก 1 เมนูยอดฮิตของร้านเซเว่นฯ ที่ผู้บริโภคนิยมมากเป็นอันดับต้นๆ ผลิตโดย “ซีพีแรม” ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทานในกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์ ซึ่งในกระบวนการผลิต ยังมีส่วนของการคัดแยกใบกะเพรา และมีส่วนคัดทิ้งคือดอก กิ่ง ก้าน และลำต้น ซีพี ออลล์จึงเกิดแนวคิดที่จะนำส่วนที่คัดทิ้งดังกล่าวมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม
ทางด้าน นายวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในประเทศไทย กล่าวว่า ทุกวันนี้กะเพราเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารกล่องพร้อมรับประทาน ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในแง่ความมั่นคงของอาหาร อีกทั้งซีพีแรม บริษัทในกลุ่มบริษัทซีพี ออลล์ ยังได้ศึกษา วิจัย ค้นคว้าสายพันธุ์กะเพราที่มีความหอมรสชาติเผ็ด จนพบสายพันธุ์กะเพราพื้นบ้านที่ดีที่สุด และได้ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทานของซีพีแรม ร่วมกันปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวภายใต้โครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ทำให้มีใบกะเพราที่ดี มีคุณภาพ ไปปรุงอาหารให้ผู้บริโภคได้รับประทานและส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่ในกระบวนการผลิตอาหารพร้อมรับประทาน กะเพรายังมีส่วนคัดทิ้ง ได้แก่ ดอก กิ่ง ก้าน และลำต้น อีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
“การต่อยอดนำส่วนคัดทิ้งของกะเพรามาทำให้เกิดประโยชน์ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้นและมั่นคง อีกทั้งยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร และสังคม จึงได้ร่วมกับ วว. วิจัยและพัฒนาการเตรียมสารสกัดจากส่วนคัดทิ้งของกะเพรา ซึ่งสามารถนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ปรุงอาหาร นอกจากนั้นยังสามารถนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์ และวงการเภสัชกรรมได้อีกด้วย” นายวิเศษอธิบาย
โดยความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปตามปณิธานองค์กรของซีพี ออลล์ คือ “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสให้ทุกคน” สร้างให้เกิดนวัตกรรมในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง
ความคืบหน้าโครงการทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จับมือ ซีพี ออลล์ วิจัยสารสกัดจากกะเพรา ศึกษาฤทธิ์ลดไขมัน ปกป้องเซลล์ตับ ฆ่าเซลล์มะเร็ง
ในปี 2020 ได้ทำการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งจำนวน 4 ชนิด ได้แก่เซลล์มะเร็งเต้านม (MCF cells line) มะเร็งผิวหนัง (G361cells line) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Caco-2 cells line) และมะเร็งปากมดลูก (Hela cells line) รวมทั้งการทดสอบฤทธิ์ลดไขมันในหลอดทดลองและความเป็นพิษในเซลล์ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการต่อคณะกรรมการผู้บริหารซีพี ออลล์ (STIDO และ Ex.com ในปี 2563)
การทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจำนวน 6 ตัวอย่าง ประกอบไปด้วยดังนี้
- สารสกัดกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 50
- สารสกัดดอกกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 50
- สารสกัดกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 75
- สารสกัดกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 95
- น้ำมันกะเพราจากการกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam distillation)
- น้ำมันกะเพราจากการกลั่นด้วยเครื่องเครื่องไมโครเวฟ (Solvent-free microwave extraction(SFME)
จากการทดสอบผลการออกฤทธิ์การยับยั้งพบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ในการยับยั้งดังต่อไปนี้
- ฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็ง
สารสกัดกะเพราที่ความเข้มข้น 31.25-1000 μg/ml สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งทุกชนิดระหว่าง 20-80 % และน้ำมันกะเพราจะมีความสามารถในการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ดีกว่าสารสกัดจากกิ่งกะเพรา (ใกล้เคียงกับยา Mitomycin C)
- ฤทธิ์การลดไขมันในหลอดทดลอง
- สารสกัดจากกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 95 มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเม็ดไขมันได้ดีที่สุดที่ร้อยละ 13 และสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ร้อยละ 16 ที่ความเข้มข้น 200 μg/ml
- น้ำมันกิ่งกะเพราด้วยวิธี steam distillation สามารถยับยั้งการสร้างเม็ดไขมันได้ดีที่สุดที่ร้อยละ 50 และสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ที่ร้อยละ 47 ที่ความเข้มข้นของน้ำมันกะเพราร้อยละ 1 (ใกล้เคียงกับยา Simvastatinซึ่งเป็นสารกลุ่มควบคุมบวก มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการสร้างเม็ดไขมันได้ดีที่สุดที่ร้อยละ 42 และสามารถลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ที่ร้อยละ 47 ที่ความเข้มข้น 100 μg/ml)
- ความเป็นพิษต่อเซลล์
ในการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ L 929 พบว่าสามารถเรียงลำดับความเป็นพิษจากน้อยสุดไปมากสุดได้ดังนี้ น้ำมันกะเพราจากการกลั่นด้วยเครื่องเครื่องไมโครเวฟ > น้ำมันกะเพราจากการกลั่นด้วยไอน้ำ > สารสกัดดอกกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 50 > สารสกัดกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 50 > สารสกัดกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 75 > สารสกัดกิ่งกะเพราที่ความเข้มข้นเอทานอลร้อยละ 95